เล่าเรื่องกาแฟ : ประวัติและสายพันธุ์กาแฟ

 

Photo Credit : Pixabay

เล่าเรื่องกาแฟ : ประวัติและสายพันธุ์กาแฟ


ใครไม่ชอบกาแฟบ้าง ยกมือขึ้นสูง ๆ โอเค..ไม่ชอบก็จงปิดหน้านี้แล้วออกไปเงียบ ๆ นะคะ 

แต่ถ้าใครชอบกาแฟ เรามานั่งคุยกันค่ะ  หรือใครเพิ่งเข้าวงการ เพิ่งหัดชงกาแฟ อยากลองชงกาแฟแบบนั้น แบบนี้ มาค่ะ ..พี่จะเล่าเรื่องกาแฟให้อ่านกันค่ะ


กาแฟน่าจะถือว่าเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมอันดับหนึ่งของชาวโลกเลยนะคะ ถ้านับจากร้านขายเครื่องดื่มทั่วโลก ร้านกาแฟต้องมีมากกว่าร้านประเภทอื่นแน่ ๆ เมนูก็หลากหลายสารพัดทั้งร้อนและเย็น เมนูแปลก ๆ ก็เยอะค่ะ เพราะมนุษย์เราช่างสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อความแปลกใหม่ หลาย ๆ คนชอบดื่มกาแฟดำ บ้างก็ดื่มกาแฟนม บางคนชอบใส่น้ำส้ม บางคนก็ชงด้วยน้ำมะพร้าว ก็เอาที่สบายใจ เอาที่ถูกใจเราค่ะ ขึ้นชื่อว่า รสนิยม ไม่มีมาตรฐาน ไม่มีอะไรถูกที่สุด จะใส่น้ำตาล รึไม่ใส่ ขอแค่เป็นกาแฟที่ถูกปาก ถูกใจคนดื่มก็ใช้ได้ละ จริงมั้ยคะ

Photo Credit : Pixabay


ว่าแต่วันนี้คุณ ๆ ผู้อ่านรู้จักกาแฟแก้วที่คุณชอบดื่มดีพอรึยังคะ พี่เองจากที่ความรู้เรื่องกาแฟเป็นศูนย์ เพราะกินเป็นอย่างเดียว พอมาเปิดร้านกาแฟก็เลยศึกษา ทำให้พอมีความรู้อยู่บ้าง ถ้าหากคุณ ๆ ยังเข้าใจว่ากาแฟแต่ละเมนูที่ชื่นชอบนั้นชงจากเมล็ดชื่อเดียวกับชื่อเมนูกาแฟ เช่น กาแฟเอสเปรสโซ่ ชงจากเมล็ดกาแฟพันธุ์เอสเปรสโซ่ คาปูชิโน่ชงจากเมล็ดกาแฟพันธุ์คาปูชิโน่ ซึ่งพี่ก็เคยเข้าใจแบบนั้นค่ะ ไม่ผิดนะคะที่เราจะเคยไม่รู้มาก่อน  มาค่ะ.. คุณต้องไม่พลาดบทความนี้ ขอเชิญล้อมวงเข้ามาค่ะ 

          เอาตั้งแต่ประวัติศาสตร์กาแฟเลยดีมั้ย ขอเล่าแบบย่อ ๆ เลยละกันนะคะ บางคนอาจจะเคยอ่านพบเรื่องเล่าที่ว่ามีเด็กเลี้ยงแพะชาวอาบิสซีเนีย(หรือประเทศเอธิโอเปียในปัจจุบัน) สังเกตเห็นฝูงแพะที่เลี้ยงไว้แล้วพบว่า แพะดูกระดี๊กระด๊า.. เอ๊ย..ดูกระปรี้กระเปร่า คึกคักขึ้นเมื่อได้กินผลไม้สีแดงจากต้นไม้ต้นหนึ่งซึ่งก็คือต้นกาแฟนั้น  สรุปว่าเรื่องนี้ไม่มีหลักฐานยืนยันและเป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมาภายหลังค่ะ แต่ถ้าหากย้อนดูหลักฐานที่เชื่อถือได้ซึ่งที่สืบย้อนไปได้ไกลที่สุด ก็คือเมื่อราวกลางศตวรรษที่ 15 นั้น ได้มีบันทึกถึงการดื่มกาแฟในวิหารแห่งหนึ่งในเยเมนค่ะ จึงเป็นที่เชื่อกันว่าสรรพคุณชูกำลังจากเมล็ดของต้นกาแฟนั้นถูกพบเป็นครั้งแรกที่เยเมน ต่อมาการปลูกรวมทั้งการดื่มกาแฟได้แพร่หลายไปทั่วตะวันออกกลาง แพร่ไปยังทวีปยุโรป อินโดนีเซียและทวีปอเมริกาจนทั่วโลกในปัจจุบันค่ะ


Photo Credit : Pixabay


แหม...มาแนววิชาการเลยเชียว อย่าเพิ่งหลับค่ะ  จะเข้าเรื่องกาแฟล่ะนะ

กาแฟ เนี่ยเค้าเป็นไม้ยืนต้น เป็นไม้พุ่มไม่ผลัดใบขนาดกลาง ๆ สูงแค่ประมาณ 3 - 4 เมตรเองค่ะ หลังจากปลูกแค่ 2 - 3 ปี กาแฟก็จะเริ่มออกดอกออกผล ผลของกาแฟเราเรียกว่า คอฟฟี่เชอรี่ (Coffee Cherry) มีลักษณะค่อนข้างกลม เมื่อยังอ่อนจะมีสีเขียว พอแก่จัดก็จะเปลี่ยนเปนสีแดงค่ะ ในแต่ละผลก็จะมีเมล็ดกาแฟอยู่ 2 เมล็ด โดยส่วนแบนที่มีรอยผ่ากลางเมล็ดจะประกบติดกัน  สายพันธุ์หลัก ๆ มีอยู่ 4 สายพันธุ์ที่คนทั่วไปรู้จัก คือ  อราบิก้า (Arabica) โรบัสต้า (Robusta) เอ็กซ์เซลซ่า (Excelsa) และลิเบอริก้า (Liberica)  แต่สายพันธุ์เอ็กซ์เซลซ่าและลิเบอริก้าน่ะไม่เป็นที่นิยมปลูกค่ะ เพราะมีรสชาติไม่ค่อยดีนัก พันธุ์ที่นิยมจึงเป็น อราบิก้าและโรบัสต้า 

ผลกาแฟเชอรี่ Photo Credit : Pixabay


กาแฟพันธุ์อราบิก้านี่ถือว่าเป็นสายพันธุ์ที่นิยมปลูกและบริโภคกันมากที่สุดเลยค่ะ นับเป็น 80% ในตลาดกาแฟโลก เมล็ดของพันธุ์นี้จะมีรูปทรงค่อนข้างเรียวผอม รอยผ่ากลางเมล็ดจะมีลักษณะคล้ายตัว S ค่ะ  เมื่อผ่านกระบวนการผลิตแล้วเมล็ดกาแฟพันธุ์นี้จะมีกลิ่นหอมหวานอบอวล คล้ายกลิ่นช็อคโกแลตและดอกไม้ค่ะ รสนุ่ม มีปริมาณคาเฟอีนประมาณ 1.1 - 1.7 % หรือแค่ครึ่งหนึ่งของพันธุ์โรบัสต้าในสัดส่วนที่เท่ากัน  ต้นกาแฟอราบิก้าชอบความเยฺ็น เค้าจะโตและให้ผลดีในพื้นที่ที่มีระดับความสูงตั้งแต่ 800 - 2,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลค่ะ ในไทยเราเลยนิยมปลูกกันทางภาคเหนือ แต่เหมือนว่าทางใต้ก็มีปลูกกันบ้างอยู่เหมือนกันค่ะ

เมล็ดกาแฟอราบิก้า Photo Credit : Pixabay


กาแฟพันธุ์โรบัสต้า เป็นสายพันธุ์ที่ปลูกง่ายค่ะ ให้ปริมาณผลผลิตมาก แม้รสชาติจะด้อยกว่าและมีรสฝาดกว่าอราบิก้า แต่บอดี้(ความเข้มข้น)ของกาแฟพันธุ์นี้จะมีมากกว่า จะรับรู้ได้ในเวลาดื่มค่ะ โรบัสต้าส่วนใหญ่จะนำมาผลิตเป็นกาแฟสำเร็จรูปแบบที่ชงละลายน้ำนั่นล่ะค่ะ (เนสกาแฟ ม็อคโคน่า เขาช่อง ฯลฯ ) หรืออาจนำมาผสมกับอราบิก้าเพื่อให้ได้รสชาติที่ดีขึ้นหรือรสที่ต่างออกไปค่ะ เมล็ดกาแฟพันธุ์นี้จะรูปร่างอวบอ้วน ด้านหลังมีลักษณะนูนเหมือนหลังเต่า รอยผ่ากลางเมล็ดจะเป็นเส้นเกือบตรง โรบัสต้าแม้กลิ่นไม่หอมอบอวลแบบอราบิก้า ซ้ำรสยังฝาดกว่า แต่มีปริมาณคาเฟอีนสูงกว่า 1 - 2 เท่า หรือประมาณ 2 -  4.5 % ค่ะ  ต้นกาแฟโรบัสต้าชอบความชุ่มชื้นสูง ปลูกได้ดีในพื้นที่ที่มีระดับความสูงตั้งแต่ 500 - 600 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ในไทยเรานิยมปลูกกันทางภาคใต้ค่ะ


เมล็ดกาแฟโรบัสต้า Photo Credit : Pixabay

แต่ถึงแม้จะเป็นกาแฟสายพันธุ์เดียวกัน ทำไมเมล็ดจากแต่ละแหล่งจึงให้รสที่แตกต่างกัน นั่นก็เพราะยังมีปัจจัยอื่นอีกค่ะ เช่น สภาพพื้นดิน แร่ธาตุในดิน ภูมิอากาศและสภาพแวดล้อมในแต่ละพื้นที่นั่นเองค่ะ 


เอาละ.. เดี๋ยวจะยาวเกินไปสำหรับบทนี้ แล้วพี่จะทยอยเอาเรื่องกาแฟมาเขียนเล่าต่อให้ได้อ่านกัน  อย่าลืมติดตามกันนะคะ 

 



ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม